วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ฺBusiness model canvas เครื่องมือเขียนแผนธุรกิจอันทรงพลัง

สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มจะเขียนแผนธุรกิจแนะนำหนังสือเล่มนี้ครับ Business model generation มีประโยชน์มากเพราะว่ามันเห็นเป็นภาพชัดว่าตัวหนังสือบรรยาย เหมาะกับการ brainstorming สนุกสนาน idea ธุรกิจบรรเจิดมาก ที่ยกมาข้างล่างก็เป็นบทความของ อ.Wiboon Joong เขียนไว้ที่พันทิป มีประโยชน์มากเชิญอ่านโดยพลัน


ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผมได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือ ตัวหนึ่งเพื่อใช้วางแผนกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นการบริหาร หรือ การตลาด ซึ่งพบว่า เครื่องมือตัวนี้ เป็นเครื่องมือที่มองอีกมุมหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ และ ใช้ได้ทั้งธุรกิจเก่า และ ธุรกิจใหม่ ซึ่งจะใช้เพียง 9 กล่องข้อมูล (9 Building Blocks) ในการออกแบบเท่านั้น ชือของมันคือ Business model canvas

ทั้งนี้ โมเดล ดังกล่าว เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อวิเคราะห์หากลยุทธ์ในการดำเนินกิจการ
ซึ่งสามารถใช้งานทั้งจาก ซ้ายไปขวา หรือ จากขาวไปซ้ายก็ได้

การคิดจากซ้ายไปขวา เป็นการคิดในเชิงการผลิตโดยมองมุมของเจ้าของกิจการเป็นหลัก ถ้าเป็นการออกแบบตามความต้องการของเจ้าของกิจการ โดยมองว่า เจ้าของกิจการมีความสัมพันธ์กับใครบ้าง แล้ว จะทำความสัมพันธ์เหล่านั้นเพื่อให้เป็นสินค้าต้องทำอย่างไร ก่อนจะกำหนด กลุ่มลูกค้า

การคิดจากขวาไปซ้าย เป็นการคิดในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าว่า เราจะเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มใด ด้วยช่องทางใด สินค้าแบบใด แล้วค่อยมาคิดถึงกระบวนการผลิต

หรือบางคนเริ่มจาก กล่องกลาง คือ สินค้า หรือ มูลค่าเพิ่มของสินค้า และ ค่อยไปกล่องขวาสุดที่เป็น กลุ่มลูกค้า และ กล่องซ้ายสุด ที่เป็น พันธมิตรธุรกิจกับเรา แล้วค่อย วิเคราะห์ การเชื่อมโยงของ ทั้ง 3 กล่องนี้

ในกรณีที่เป็นธุรกิจเก่า เราอาจจะไม่ต้องสนใจการคิดแบบขวาไปซ้าย หรือ ซ้ายไปขวา แต่ขอให้ระบุรายละเอียดในแต่ละกล่องให้สมบูรณ์ก่อนที่จะวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการและปรับปรุง ก็ได้

จะเห็นว่า แนวทางการคิดของ Business Model นี้มีได้หลายแบบ แต่ทั้งนี้ ผลที่ได้จะเหมือนกัน คือข้อมูลที่อยู่ในแต่ละกล่อง คนที่ชอบสังเกตุ และ มองได้หลายๆมุม ก็จะยิ่งสามารถแจกแจงรายละเอียด ได้มากขึ้น

ในกรณีที่รายละเอียดมากเกินไป การจับกลุ่มข้อมูลจึงมีความสำคัญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่กระชับมากยิ่งขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ Business Model จึงสามารถวางแผนได้ทั้งในองค์รวม และ รายละเอียดของธุรกิจนั้นๆ
ซึ่งผมจะขออธิบายองค์ประกอบ ของทั้ง 9 กล่อง จากขวาไปซ้ายละกันนะครับ


Business model canvas

1. กลุ่มของลูกค้า หรือ Customer Segments บางระบบจะย่อเป็น CS


เป็นการแบ่งกลุ่มของลูกค้า เพื่อหาข้อมูลว่า ลูกค้าในแต่ละกลุ่มนั้น มีความต้องการอย่างไร มีลักษณะสำคัญอย่างไร พฤติกรรมเป็นอย่างไร หรือ ปัญหาที่ลูกค้าพบคืออะไร เป็นต้น

อันนี้ผมพบว่า มีปัญหาในการแบ่งกลุ่มของลูกค้า อยู่บ้าง และ พบว่า Business Model นี้เหมาะกับ การวิเคราะห์กับการขายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรง หรือ ใช้กับกลุ่มลูกค้าเฉพาะ หรือ ใช้กับสินค้าเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ ดีมาก

ถ้าคุณเปิดบริษัทฯใหม่ ต้องการ ขายสินค้าให้กับ นักเรียน นักศึกษา อันนี้ก็มีเพียง 2 กลุ่มให้วิเคราะห์ ซึ่งเป็นการกำหนดกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน

หรือถ้า สินค้าคุณคือ สบู่ที่มีคุณภาพราคาแพง แน่นอนว่า กลุ่มลูกค้าของคุณ ก็คงหนีไม่พ้นคนมีรายได้สูง ชอบของมีคุณภาพ...

แต่ถ้า คุณกำลังวางแผนกลยุทธ์ให้กับห้างสรรพสินค้า กลุ่มลูกค้าออกมาได้หลากหลาย การวิเคราะห์ก็จะเริ่มยากขึ้น ต้องใช้องค์ประกอบอื่นๆ เพิ่มเข้ามาในการแจกแจงกลุ่มลูกค้าอีกที

เมื่อได้กลุ่มลูกค้าแล้ว คุณก็ต้องหาว่า แต่ละกลุ่ม มีจุดเด่น จุดด้อย ลักษณะ พฤติกรรม อย่างไรอีกชั้นหนึ่ง...

สิ่งที่ได้รับจากการทำเช่นนี้ ทำให้คุณได้เห็นแนวคิดของทีมหรือของคุณ กับ กลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่ม ยิ่งคุณหามุมมองที่แตกต่างจากคนทั่วไปได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่คุณจะวางแผนกลยุทธ์ได้ดีก็มีมากตามไป ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจว่า บางมุมมองซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วไป อาจจะกลายเป็น จุดที่จะทำให้เราสามารถวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด หรือ การบริหารจัดการ ได้ดีกว่าคนอื่นๆที่มองไม่เห็นก็ได้..
Customer Segments

2. การนำเสนอคุณค่า Value Proposition หรือบางที่ใช้ VP ซึ่งเป็นกล่องตรงกลาง


จริงๆมันก็คือ สินค้า และ บริการ แต่การที่ใช้คำว่า Value Proposition มันน่าจะมีความหมายที่แตกต่างจากสินค้าและบริการทั่วไป ตามแนวความคิด

ซึ่งจะเห็นว่า Proposition เกิดจาก 2 คำคือ
Pro ที่แปลว่า เหนือ, หรือ มากกว่า กับ
Position คือ ตำแหน่ง

ดังนั้น เป้าหมายของ สินค้าแลบริการ ที่จะลงข้อมูลในช่องนี้ คือ มูลค่าเพิ่มที่ใส่เข้าไปในสินค้า หรือ บริการ แล้วทำให้ตำแหน่งของสินค้าและบริการของเรา อยู่ในตำแหน่งที่เหนือกว่าสินค้าอื่นๆทั่วๆไป หรือ ที่อยู่ในท้องตลาด

Value หรือ มูลค่า ไม่จำเป็นต้องเป็นคุณลักษณะของสินค้า แต่มันรวมถึง คุณค่าต่างๆที่ไม่สามารถวัดออกมาด้วย เช่น คุณค่าทางใจ, ความรู้สึก, มุมมอง, แนวคิดที่สอดคล้อง, การเข้าร่วมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฯลฯ...

ถ้าคุณวางแผนกลยุทธ์ทางด้านการขายสินค้า แล้วมีสินค้าหลายตัว แนะนำให้ แยกออกไปวางแผนกลยุทธ์ ตามกลุ่มสินค้า หรือ ประเภทสินค้า อย่าเอาสินค้าทั้งหมด มาวิเคราะห์ในแผนเดียว เพราะจะทำให้สับสน (ผลปรากฎว่า ไม่สามารถจับประเด็นมาทำกลยุทธ์ได้อย่างแท้จริง)

ในจุดนี้ คุณจะพบว่า สิ่งที่คุณคิดขึ้น กับ กลุ่มลูกค้า บางทีมีบางเรื่องที่อาจจะทำเป็นกลยุทธ์ขึ้นมาได้ ทั้งนี้ หากคิดอะไรเพิ่มเติมจากปัจจุบันได้ ก็ควรเขียน โน๊ตไว้อีกสีหนึ่งเผื่อจะได้นำมันมาวางแผนกลยุทธ์ต่อไป

การเข้าใจ สินค้าและบริการ เป็นเหตุผลหลักของธุรกิจ คนที่ไม่สามารถระบุจุดเด่นของสินค้าหรือบริการ ของตนเองได้ ผมพบว่าส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจมานาน จนไม่ได้มองว่าสินค้าเป็นอย่างไร ใช้ Connection ที่มีอยู่ หรือ มีการขายสินค้าได้อยู่ เลยไม่ได้มองถึงจุดๆนี้ ซึ่งนับว่าเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ
การนำเสนอคุณค่า
ผมได้อธิบายไป 2 กล่อง เพื่อให้เห็นภาพ กล่องแรกคือ Customer Segments ซึ่งผมใช้แทนด้วยสีเหลือ และอีกกล่องคือ Value Proposition สีฟ้า

จะเห็นว่า ระหว่าง 2 กล่องนี้ จะมี อีก 2 กล่องที่เชื่อมระหว่าง Value Proposition และ Customer Segment ทั้ง 2 กล่องนี้คือ Customer Relationships และ Channels ซึ่งผมจะกล่าวต่อไป...


3. ความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ Customer Relationships บางที่ใช้คำยอ่ว่า CR


โมเดลหลายๆโมเดลก่อนหน้านี้ ไม่ค่อยพูดถึง ความสัมพันธ์กับลูกค้า แต่มีทฤษฎีเกี่ยวกับ ความพึงพอใจของลูกค้า อยู่บ้าง Business Model ตัวนี้ ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ ระหว่างองค์กร ค่อนข้างมาก

เมื่อเราจะกำหนด Customer Relationships ในจุดนี้ ต้องมองในมุมของ ลูกค้าเป็นหลัก เพราะถ้ามองในมุมของเจ้าของสินค้า ความคลาดเคลื่อนอาจจะมีมากด้วย ผม พบเจ้าของกิจการบางท่าน ก็จะบอกว่า ลูกค้าพอใจในสินค้าและบริการของเขาอย่างมาก ไม่ต้องดูเรื่องนี้หรอก แต่เมื่อตรวจวัด ความพึงพอใจของลูกค้า (CSI : Customer Satisfaction Index) ขึ้นมา ทุกราย ตัวเลขสื่อให้เห็นว่า พวกเขาไม่พึงพอใจต่อการให้บริการหรือแม้นแต่สินค้า ก็มี แต่จำเป็นต้องใช้เพราะ มีการขายรายนี้เพียงรายเดียวที่คุณภาพได้ หรือ ราคาถูก เป็นต้น

ในการวางแผนกลยุทธ์ทางด้านการตลาด ในเรื่องของ Customer Relationships ค่อนข้างมีความสำคัญ เพราะเป็นตัวบ่งบอกว่า ลูกค้าจะกลับมาซื้อซ้ำหรือไม่ หรือ ลูกค้าจะบอกต่อให้เพื่อนๆใช้สินค้านี้หรือไม่

เมื่อเจ้าของกิจการคิดรายละเอียดถึงความสัมพันธ์กับลูกค้า จะมีบางช่วงเวลา แว๊บๆขึ้นมาว่า กิจการเราไม่ดีต่อลูกค้าอย่างไร หรือ ลูกค้ากับองค์กรมีปัญหาอย่างไร ก็ให้ใส่สิ่งเหล่านั้นขึ้นมาด้วยเพื่อจะได้วางแผนกลยุทธ์ในการบริหารความสัมพันธ์ให้คงอยู่ยั่งยืนต่อไป
CRM

4 ช่องทางการเข้าถึงลูกค้า หรือ Channels บางที่จะย่อว่า CH


บางคนใช้ ช่องทางการเข้าถึงลูกค้านี้ เป็น ช่องทางการจัดจำหน่ายก็มี หรือบางคน ก็ใช้เป็น Logistics ก็มี

บางคนการวางแผนกลยุทธ์ทางด้านการตลาด จะมองจุดนี้เป็นช่องทางการจัดจำหน่าย
บางคนการวางแผนกลยุทธ์ทางด้านการจัดการ ก็จะมองจุดนี้เป็น  Logistics ก็มี

ซึ่งผมคิดว่าไม่มีใครผิด มันขึ้นอยู่กับ การวางแผนกลยุทธ์นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง

การโฆษณา หรือ ประชาสัมพันธ์ ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะเข้าถึงลูกค้า

การใช้สื่อ Internet หรือ Skype ก็เป็นช่องทางเข้าถึงลูกค้า

ผมจึงสรุปเป็นภาษาไทยรวมๆว่า ช่องทางที่จะเข้าถึงลูกค้า
ตัวอย่างช่องทางที่จะเข้าถึงลูกค้า

จะเห็นว่า ความสัมพันธ์ ระหว่าง กล่องที่ 1 คือ ลูกค้า กล่องที่ 2 คือ มูลค่าเพิ่มเติม ต้องใช้วิธีการต่างๆเพื่อ สื่อให้กับลูกค้าได้รับรู้ โดยใช้กล่องที่ 4  และ ต้องให้ลูกค้าพึงพอใจ หรือ ทำให้ลูกค้าพอใจ ในกล่องที่ 3

เป้าหมายของ Business Model ของทางฝั่งนี้ คือ กล่องที่ 5 รายได้ที่ได้รับ


 5. กระแสรายได้ หรือ Revenue Streams บางแห่งย่อว่า RS

คำว่า Streams แปลว่า ทางน้ำไหล หรือ เป็นสาย ฝรั่งเขาเติม s เข้าข้างหลัง นั่นหมายถึง เป้าหมายของการดำเนินธุรกิจ ต้องการ ทางเข้าของรายได้ หลายๆสายนั่นเอง

การที่รายได้เข้ามาเป็นสาย นั่นหมายถึง ความมั่นคงทางการเงินที่มากขึ้น

บางธุรกิจ รายได้มาแบบกะปิกะปอย (ไม่รู้เขียนถูกหรือเปล่า) มันจะรู้สึกหงุดหงิด ทำอะไรมันไม่ค่อยจะสะดวกสักเท่าไหร่  แต่ถ้า รายได้เข้ามาตลอดเวลา หลายๆทาง ก็จะรู้สึกว่า การดำเนินธุรกิจไป คุ้มค่า และ จะสนุกกับการทำธุรกิจนั้นๆ

การจำทำให้เกิดกระแสรายได้เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย จึงเป็นเป้าหมายในการวาง Business Model นี้ด้วย

ธุรกิจ อาจจะได้รายได้เพียงทางเดียว คำถามที่ผมมักจะถามกับเจ้าของกิจการคือ แล้วคุณคิดว่าจะหารายได้เพิ่มมาจากที่ใด ?

เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ คิดที่จะเปิดธุรกิจเพิ่ม ซึ่งบางคนก็คิดไปคนละเรื่องกับธุรกิจที่ดำเนินอยู่ ซึ่งมันก็ดี

แต่ในการแผนกลยุทธ์ในรูปแบบนี้แล้ว คุณควรจะมองรายได้เพิ่มจากธุรกิจต่อเนื่อง หรือ จากการบริการ หรือ จากมูลค่าเพิ่มของสินค้า มากกว่า การมองหาธุรกิจใหม่ๆ ทั้งนี้ก็เพราะ การมองหากระแสรายได้จากธุรกิจเดิม แล้วต่อยอด ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า อีกทั้งเจ้าของกิจการ หรือ ผู้ปฏิบัติการมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว

เจ้าของธุรกิจบางราย เลือกที่จะขึ้นราคาสินค้า เพื่อสร้างให้กระแสรายได้ ใหญ่ขึ้น ก็ต้องเสี่ยงกับ การหายไปของจำนวนลูกค้าว่า คุ้มค่าหรือไม่กับการเสี่ยงที่จะขึ้นราคาสินค้า บางสินค้าที่มีคู่แข่งน้อย หรือ มีการกำหนดราคาร่วมกัน ก็ไม่ค่อยจะมีปัญหา แต่กับสินค้าที่มีการแข่งขันสูง การขึ้นราคาอาจจะไม่ใช่หนทางที่ดีนัก

สิ่งที่คุณจะได้จากการดูกระแสรายได้ บางครั้งอาจจะต้องตกใจว่า มีเพียง กระแสรายได้ เดียว และ เป็นกระแสรายได้ที่ไม่ค่อยจะปลอดภัยเสียด้วย เช่น บริษัทฯผลิตรองเท้า OEM ให้กับรองเท้ากีฬาชื่อดัง โดนเจ้าของแบรนด์ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม ทำให้เจ็งไปแล้วก็หลายราย และถ้าคุณสามารถรู้ก่อนว่า คุณจะเกิดปัญหาจากกระแสรายได้เพียงทางเดียว คุณก็ควรที่จะมองหากระแสรายได้ที่มีความปลอดภัยอื่นๆเพิ่ม ป้องกันตั้งแต่วันนี้ก่อนจะสาย
กระแสรายได้

 ธุรกิจ ส่วนใหญ่ มักจะวางกลยุทธ์ทางด้านการตลาด โดยใช้ 5 กล่อง นี้

แต่ทั้งนี้ กล่องที่เหลือ จะเป็น แนวทางการปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนให้ 5 กล่องแรก ประสบความสำเร็จ ถ้าวางแผนกลยุทธ์อย่างฉาบฉวย ก็จะดูที่ผลที่จะได้รับอย่างรวดเร็ว แต่ผลสุดท้ายแล้ว กลับไม่ยั่งยืน ดังนั้น กล่องที่เหลือ จึงเป็นกล่องเพื่อสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนนั่นเอง

ซึ่งผมขอเริ่มจากกล่อง ขวาสุดก่อน


6. คู่ค้าดำเนินธุรกิจที่สำคัญ หรือ Key Partners บางแห่งใช้ย่อว่า KP


ในด้านการวางแผนกลยุทธ์ในการผลิต Key Partners ส่วนใหญ่จะเป็น Supplier หลัก ที่ส่งวัตถุดิบมาให้เราเป็นจำนวนมากๆ ซึ่งถ้าเกิดปัญหากับ Supplier รายนั้น ปัญหาก็จะกระทบกับเราเช่นกัน ให้ดูผลที่เกิดจากน้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้วงการคอมพิวเตอร์ หรือ วงการอิเล็กทรอนิกส์ เกิดภาวะหยุดนิ่งชั่วขณะ เนื่องจาก ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่อยู่ในไทย เป็นต้น

หรือบางครั้ง Key Partners ก็หมายถึง บริษัทฯ ที่เราไปว่าจ้างเขาผลิตด้วย

ในด้านการวางแผนกลยุทธ์ในธุรกิจซื้อมาขายไป Key Partners จะกลายเป็น Supplier ส่งสินค้าให้กับเรา

เป็นต้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับธุรกิจต่างๆ โดยรวม Key Partners จะหมายถึง บริษัทฯอื่น ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของเรา หรือ สนับสนุนธุรกิจของเราให้ดำเนินไปอย่างปกติ หรือ ดำเนินไปได้ดีขึ้นจากปกติ เพื่อหากลยุทธ์จากข้อมูลต่างๆที่ป้อนเข้าไปในกล่องน

คู่ค้าที่สำคัญ
เมื่อมองภาพรวมของการเชื่อมโยงในแต่ละกล่อง จะเห็นว่า ระหว่าง Key Partners และ Value Propositions ก็จะมีอีก 2 กล่อง ที่เป็นตัวประสานของ 2 กล่องนี้ คือ Key Activities และ Key Resources

สาเหตุที่ผมอธิบาย Key Partners ก่อน เพราะ คุณจะได้เชื่อม ความสัมพันธ์ ทั้ง 2 อย่างนี้เข้าด้วยกันด้วย ในการหาข้อมูลเข้ามาใส่ในกล่องทั้ง 2 นี้

ถึงแม้นแต่ คุณไม่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง Key Partners และ Value Propositions ทั้ง 2 กล่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ก็ต้องคิดในเรื่องที่จะสนับสนุน 5 กล่องแรกทั้งหมดได้เช่นกัน

7. กิจกรรมหลัก หรือ Key Activities บางแห่งย่อว่า KA


กิจกรรมหลัก เป็นกิจกรรมที่จะสนับสนุนให้ สินค้า และ บริการ มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น หรือ เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่าง คู่ค้า-ดำเนินธุรกิจหลัก ว่า ควรมีกิจกรรมอย่างไรเพื่อให้ คู่ค้าสนับสนุนธุรกิจเราได้ดีมากยิ่งขึ้น

กิจกรรม อาจจะเป็นกิจกรรมที่ส่งผลให้ กลุ่มลูกค้า เกิดความพึงพอใจ หรือ เป็นกิจกรรมร่วมระหว่างองค์กรกับลูกค้าด้วยก็ได้ หรือ เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนการขาย เป็นช่องทางการขายเพิ่มมากขึ้น หรือ ให้บริการได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ กิจกรรมที่จะดำเนินการ อาจจะแฝงด้วยผลกำไรอีกทางก็จะดีไม่น้อย

บางครั้ง กิจกรรมนี้ ในทางการวางแผนกลยุทธ์ทางการผลิต ก็จะหมายถึง การผลิต ด้วย

 8. ทรัพยากรหลัก หรือ Key Resources เขียนย่อว่า KR


ซึ่งเป็นวัตถุดิบ (Material) ที่ใช้ในการผลิตก็ได้ เพื่อให้สินค้าและบริการดีขึ้น หรือ จะเป็นสินค้าอื่นๆที่ซื้อมาเพื่อขายร่วมกับสินค้าก็ได้

ในการแผนผลิตภัณฑ์ ก็อาจจะกล่าวถึง Packaging ที่สนับสนุนให้การส่งสินค้าดีขึ้น

บางครั้งเราก็จะกล่าวถึง Key Man ในช่องนี้ ทรัพยากรบุคคล เครื่องจักรการผลิต เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เราเห็น ระบบการสนับสนุนของสินค้าและบริการของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 9. โครงสร้างค่าใช้จ่าย หรือ Cost Structure ย่อว่า CS


โครงสร้างค่าใช้จ่าย ดูจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนหรือ จากกล่อง 1-8 ทั้งนี้จะทำให้เราเห็นภาพรวมของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นว่า มีจำนวนประมาณเท่าใด จุดใดเสียค่าใช้จ่ายมาก หรือ น้อยอย่างไร และเป็นตัวบ่งชี้ว่า เราจะสามารถคุมค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม ณ จุดใด

ซึ่ง กล่องที่ 9 โครงสร้างค่าใช้จ่าย และ กล่องที่ 5 กระแสรายได้ จะบ่งบอกถึง สถานะทางการเงินของธุรกิจ

ผมคิดว่า เพื่อนๆที่เข้ามาอ่าน คงเข้าใจ หลักการของทั้ง 9 Blocks ข้างต้นแล้ว

ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่า เมื่อคุณรู้จัก 9 Blocks แล้ว คุณก็ยังคงสงสัยว่า จะเอาไปใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ ต่อไปได้อย่างไร

เอาไว้ถ้าผมพอมีเวลาว่างเหมือนวันนี้ ผมจะมาอธิบายวิธีการใช้งานให้อีกครั้งหนึ่งนะครับ..

ต้องขอตัวก่อนครับ


ตัวอย่าง business model ของ myspace.com
business model ของ myspace.com

ถ้าอยากหาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเอง ลองไปที่เวบ businessmodelalchemist.com อันนี้ผู้เขียนหนังสือเป็นคนอธิบาย แล้วก็มี ppt อธิบายหลักการอยู่หลายอัน (อันที่เขาเอาไว้ training) ต้องลองหาดูในโพสต์เก่าๆเขาถ้าตามอ่านดู จะได้แนวทางแผนธุรกิจหลายๆแบบเลยทีเดียว หรือลอง search "Business model generation examples" ก็ได้ครับ

4 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ค่ะ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากเลยครับ
    บทความมีประโยชน์มากเลยครับ
    ช่วยให้เข้าใจภาพรวมแล้วก็เริ่มต้นได้เลยครับ ^^

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ที่แบ่งปันค่ะ

    ตอบลบ