วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หลักการเจรจาประนอมหนี้

ไม่มีใครที่อยากเป็นหนี้ แต่เมื่อเป็นหนี้แล้วจ่ายไม่ไหว จะมีหลักการเจรจาประนอมหนี้อย่างไร เนื้อหามาจากบทความ "หลักการเจรจาประนอมหนี้ ง่ายๆ สไตล์ ทนายวิ้น" [1] เชิญอ่านโดยพลัน


1.กรณีก่อนถูกฟ้องเป็นคดี 


ถ้ามีเจ้าหนี้หลายราย ผมจะให้ลูกหนี้รวบรวมจำนวนเจ้าหนี้ทั้งหมด มีหนี้สินรวมเท่าไร ผ่อนชำระไหวเดือนละเท่าไร หลังจากนั้น ผมให้ลูกหนี้ทำหนังสือถึงเจ้าหนี้ทุกราย แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมภาระหนี้คงค้าง ของเจ้าหนี้แต่ละราย และขอเสนอวิธีการชำระหนี้

เช่น มีเจ้าหนี้ A B C D ทำหนังสือถึงเจ้าหนี้ A. แจ้งว่ามีใครเป็นเจ้าหนี้บ้างเสนอชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ A. ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น โดยขอลดดอกเบี้ย หรือ ตัดภาระหนี้ครึ่งหนึ่งหรือ หยุดดอกเบี้ยในอนาคต พร้อมผ่อนชำระขั้นต่ำรายเดือน

หากเจ้าหนี้ A ยินยอมให้ประนอมหนี้ ผมก็ให้ลูกหนี้เริ่มต้นชำระหนี้ครับ (ปกติผมจะเริ่มจากเจ้าหนี้ที่มีภาระหนี้น้อยที่สุดก่อน) ผมจะหนังสือแบบนี้ส่งให้เจ้าหนี้ทุกราย ทางจดหมายแบบลงทะเบียนตอบรับครับ ถ้าเจ้าหนี้รายไหนไม่ยินยอมประนอมหนี้ ก็ให้รอจนกว่าจะชำระหนี้กับเจ้าหนี้รายอื่นๆ เสร็จสิ้น แล้วค่อยกลับมาเจรจากับเจ้าหนี้ที่ไม่ยอมอีกครั้งครับ

2. กรณีถูกฟ้องเป็นคดีแพ่ง


สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกเลย คือ ตรวจคำฟ้องครับ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจฟ้องเจ้าหนี้ตลอดจนมูลหนี้ ภาระหนี้ อายุความมีข้อต่อสู้ได้ตามกฎหมายหรือไม่หลังจากนั้นดูว่ากำหนดพิจารณาวันไหน เวลาอะไรต้องยื่นคำให้การภายในวันที่เท่าไรครับ

2.1 กรณีมีเจ้าหนี้รายเดียว 


ไม่ว่าจะมีมูลหนี้เดียวหรือหลายมูลหนี้ แบบนี้จะเจรจาง่ายครับ ส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการเงิน
ผมจะเริ่มต้นจากทำเป็นหนังสือขอเจรจาก่อน หากมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ ผมจะพาลูกหนี้เข้าไปพบ
หลักการเจรจาตามสูตรเดิมครับ ขอลดดอกเบี้ย หรือ ตัดภาระหนี้ครึ่งหนึ่ง หรือ หยุดดอกเบี้ยในอนาคต
พร้อมผ่อนชำระขั้นต่ำรายเดือน

ถ้าเจรจากันได้ ก็กลับไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาล

ถ้าเจรจาไม่ได้ก็จะแถลงศาล ขอเข้าศูนย์ไกล่เกลี่ย การเข้าศูนย์ไกล่เกลี่ย เบื้องต้นอาจจะได้เงื่อนไข
ที่ลูกหนี้อยู่ในสภาวะอึดอัดใจบ้าง แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษา ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว
ลูกหนี้ยังสามารถกลับเข้าไปเจราจา ขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ได้อีก

2.2 กรณีเจ้าหนี้หลายราย


ต่างรุมฟ้องกันมาในคราวเดียวกัน หรือในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ผมจะกลับไปใช้วิธีการตามข้อ 1 + ข้อ 2.1 ครับ

3. กรณีถูกฟ้องเป็นคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค (เช็คเด้ง)


สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกเลย คือ ตรวจคำฟ้องเช่นกันครับดูว่าใครเป็นโจทก์ พนักงานอัยการ หรือ เจ้าหนี้
ดูอำนาจฟ้อง มูลหนี้ ภาระหนี้ อายุความมีข้อต่อสู้ได้ตามกฎหมายหรือไม

หลังจากนั้นดูว่ากำหนดพิจารณาวันไหน เวลาอะไรต้องยื่นคำให้การภายในวันที่เท่าไรเตรียมหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว)

สิ่งสำคัญที่สุดในคดีอาญา ต้องคิดเสมอว่า ขาของลูกหนี้ข้างหนึ่งอยู่ในคุกแล้ว สถานะทางกฎหมายไม่มีอำนาจมากนัก ต้องให้ลูกหนี้ไปศาลตามกำหนดนัด เพื่อป้องกันการออกหมายจับ และไม่ให้ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย

ในคดีเช็ค ไม่ว่าจะมีเจ้าหนี้รายเดียวหรือหลายราย ต้องรีบเจรจาให้ได้ข้อยุติ และทำบันทึกข้อตกลงต่อหน้าศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวครับ (คดีเช็ค เป็นความผิดต่อส่วนตัวสามารถเจรจาถอนคำร้องทุกข์หรือถอนคำฟ้องได้)

การชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ในคดีอาญา ผมจะให้ลูกหนี้นำเงินมาวางต่อศาลเพื่อให้สำนวนคดีมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา และเป็นการแสดงเจตนาให้ศาลทราบ หากในอนาคตเกิดข้อผิดพลาดขึ้น เช่น ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เป็นบางครั้ง และมีการยกคดีกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่ ลูกหนี้ยังมีหลักฐานเป็นเอกสารในสำนวนคดี เพื่อขอความเมตตาจากศาลได้ครับ

4. กรณีถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย


(สำหรับบุคคลธรรมดา มีภาระหนี้ตั้งแต่ 1 ล้านบาท นิติบุคคล มีภาระหนี้ตั้งแต่ 2 ล้านบาท) เบื้องต้นตรวจคำฟ้องตามข้อ 2 และ 3 ครับ และดูต่อไปว่าเจ้าหนี้ที่ฟ้องมา เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาเดิม หรือเป็นเจ้าหนี้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งหลาย เจ้าหนี้เช่นนี้ ร้อยละ 100 เป็นการรับโอนมาโดยการประมูลหนี้ แน่นอนว่าไม่ได้รับโอนมา โดยเสียค่าใช้จ่ายเต็มมูลค่าตามจำนวนหนี้การรู้ตรงจุดนี้ จะทำให้เราเจรจาง่ายขึ้น สามารถขอลดภาระหนี้ได้มากขึ้นด้วยครับ โดยเฉพาะถ้าเป็นคดีที่ไม่ทรัพย์จำนอง (เจ้าหนี้ไม่มีประกัน)หรือเจ้าหนี้สืบทรัพย์ลูกหนี้แล้วไม่พบ
หลักการเจรจาจะใชัหลักการเดียวกับข้อ 1. ครับ

5.กรณีศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด


ก่อนถึงวันตรวจคำขอรับชำระหนี้ ลูกหนี้ต้องไปพบเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) เพื่อให้การสอบสวนเกี่ยวกับสถานะการดำรงชีพ มีใครเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ บ้าง และหากจะออกต่างประเทศ ต้องทำเรื่องขออนุญาตเป็นรายครั้งไป

สามารถรายงานตัวได้ที่ไหนบ้าง
- สนง. บังคับคดีจังหวัด ที่ลูกหนี้มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน
- กรมบังคับคดี ถ.บางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

การไม่ไปพบ จพท. จะเป็นเหตุให้ถูกออกหมายจับนะครับ แต่ไม่ใช่เป็นจับเพื่อกักขังหรือคุมขังจับเพื่อให้ได้ตัวมารายงานต่อ จพท. ครับ

ต่อมาเมื่อถึงวันตรวจคำขอรับชำระหนี้ ผมจะตรวจสำนวนคำขอดูว่ามีเจ้าหนี้ทั้งหมดกี่ราย ภาระหนี้รวมกันเท่าไร ภาระหนี้มีสภาพบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าลูกหนี้ประสงค์เจรจา สามารถยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายได้หรือไม่ (เจ้าหนี้ที่ไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องในคดีล้มละลายต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้
ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดนะครับ ไม่ว่าหนี้นั้นเราจะไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลยก็ตาม ตลอดจนประกันชีวิตที่เราส่งเบี้ยอยู่ บริษัทประกันจะงดรับเบี้ยเรา และถ้า จพท. ตรวจสอบพบว่า
มีมูลค่าเวนคืนเงินสดในกรมธรรม์ประกันชีวิต จพท.จะใช้ของลูกหนี้เวนคืนกรมธรรม์
เพื่อนำเงินนั้นเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ครับ)

ถ้าลูกหนี้ประสงค์ประนอมหนี้ จพท. จะให้เขียนคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย และสำเนาให้กับเจ้าหนี้ทุกรายครับ หลัวจากนั้นเจ้าหนี้จะแจ้งว่ารับหรือไม่รับคำขอ ถ้ารับและศาลมีคำสั่งอนุญาต ก็เริ่มต้นก็ผ่อนชำระตามเงื่อนไขที่ให้ไว้ ถ้าไม่รับ จพท. จะทำความเห็นต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย

การประนอมหนี้หลังล้มละลาย สามารถทำได้ครับ โดยลูกหนี้มีสิทธิขอประนอมหนี้ภายหลัง ที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วได้อีก

ลูกหนี้ที่ศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย ถ้าให้ร่วมมือกับ จพท. ตลอดระยะเวลาการล้มละลายจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี ครับ

แต่ถ้าลูกหนี้ไม่ให้ความร่วมมือกับ จพท.จพท. จะมีคำขอศาลให้หยุดนับระยะเวลาไว้โดยศาลจะกำหนดระยะเวลาที่หยุดนับทั้งนี้เมื่อรวมระยะเวลาที่หยุดนับจะต้องไม่เกิน 2 ปี ครับ(รวมล้มละลาย 5 ปี)

การนับระยะเวลาล้มละลายยังมีอีก 2 กรณี คือ
ขยายระยะเวลาเป็น 5 ปี และ
ขยายระยะเวลาเป็น 10 ปี
ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ ขอละไว้ก่อนนะครับ

เมื่อครบกำหนดแล้ว ศาลจะมีคำสั่งปลดหนี้ลูกหนี้จากการล้มละลาย ส่วนการประกาศราชกิจจานุเบกษา เป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนไว้

เมื่อลูกหนี้ปลดจากการล้มละลายแล้ว ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวง (เว้นแต่หนี้ภาษีอากร หรือหนี้ซึ่งเกิดจาก ความทุจริตฉ้อโกงของลูกหนี้ ที่ไม่หลุดพ้นด้วย)

การหลุดพ้นหนี้ หมายถึง สภาพการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย เจ้าหนี้ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
แต่ภาระหนี้ยังมีอยู่ในระบบ ติดเครดิตบูโรอยู่ จนกว่าเจ้าหนี้จะได้ชำระหนี้เสร็จสิ้นจริงๆ ครับ

[1]ทค. ธนาพงศ์ ทิพย์ภูริพงศ์
Line ID : rawint
FB : thanaphong.rawint

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=910618899034176&set=a.119695144793226.22242.100002582231752&type=3&permPage=1