วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

5 เคล็ดลับเก็บเงินของคุณพ่อคุณแม่

5 เคล็ดลับเก็บเงินของคุณพ่อคุณแม่

พ่อแม่ทุกคนอยากเลี้ยงให้ลูกเติบใหญ่เป็นคนดีของสังคม แต่การมีลูกโดยไม่วางแผนทางการเงินที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาครอบครัวในอนาคต เนื่องจากการเลี้ยงดูลูกให้ดีต้องทุ่มเทค่าใช้จ่ายและเวลาสูง เมื่อรายได้เริ่มไม่พอกับรายจ่าย หลายครอบครัวอาจเริ่มหาเงินโดยการเป็นหนี้เป็นสิน ปัญหาเยอะ ๆ เริ่มก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งจนหลายครอบครัวต้องหย่าร้างกันไป ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด คือ ควรวางแผนทางการเงินให้ดีตั้งแต่ต้น ดังนี้

1.การทำบัญชีรายรับรายจ่าย


การมีลูก 1 คน ประมาณการคร่าว ๆ ว่า จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นขั้นต่ำ ประมาณเดือนละ 10,000 บาท ตั้งแต่เกิดจนถึงจบปริญญาตรี ถ้าทั้งคู่ยังมีรายได้เท่าเดิมแสดงว่า ทั้งพ่อและแม่ต้องวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมเพื่อให้มีเงินมาเลี้ยงครอบครัวและดูแลลูกให้เติบโตอย่างไม่มีปัญหา จะมาใช้จ่ายตามใจฉันแบบอดีตไม่ได้แล้ว

ดังนั้น การทำบัญชีรายรับรายจ่าย เป็นเครื่องมือช่วยให้วางแผนทางการเงินได้ง่ายขึ้น เพราะจะทำให้รู้ว่า รายได้มาจากทางไหนบ้าง และเงินหายไปกับอะไร สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อว่าค่าใช้จ่ายนั้นเหมาะสมหรือไม่

นอกจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้ว การนำระบบงบประมาณมาใช้จะช่วยให้จดบันทึกและ ควบคุมเงินให้ใช้จ่ายตามแผนที่วางไว้ได้สะดวกมากขึ้น เมื่อมีรายได้เข้ามาก็จัดเงินเป็นส่วน ๆ และคุมงบประมาณให้อยู่ในงบที่จัดไว้ตัวอย่างในภาพเป็นการจัดงบประมาณการใช่จ่ายรายวันแบ่งเงินมาใช้ประจำวันโดยมาแยกเป็นซอง ๆ ตามวัน ถ้าไม่เกินงบก็จะมีเงินเหลือเก็บ


ตัวอย่างการจัดสรรเงินโดยการแบ่งเงินเป็นส่วนๆ
ที่มา http://teen.mthai.com/variety/94313.html


2.วางแผนการทำประกัน


สำหรับคนมีครอบครัว เรื่องของการเบิกค่ารักษาพยาบาลก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องวางแผน เพราะถ้าลูกป่วยครั้งหนึ่ง แล้วจำเป็นต้องนอนที่โรงพยาบาล จะมีค่าใช้จ่ายเป็นหมื่นบาทอย่างต่ำ ๆ ถ้าเลือกทำประกันที่มีเงื่อนไขสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ก็จะสามารถช่วยบรรเทารายจ่ายฉุกเฉินให้เบาบางลงได้ ไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินให้ต้องนำเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน และแผนทางการเงินที่วางไว้ทั้งหมดก็จะเสียหายตาม

นอกจากนั้น การทำประกันยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเรื่องของการออมเงินได้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อประกันมาลดหย่อนภาษีได้ เหมือนนำเงินภาษีที่เราจ่ายไปคืนมาเป็นรายได้ ถ้าเป็นประกันชีวิตพอครบกำหนดก็จะคืนเงินกลับมาให้ และหลายผลิตภัณฑ์มีการจ่ายผลตอบแทนที่ดีเลยทีเดียว

3.วางแผนการลงทุน

ตารางการวางแผนการเงิน

ในการวางแผนทางการเงินสำหรับครอบครัว นอกจากการวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว ต้องมีการวางแผนการลงทุนให้เงินงอกเงยออกดอกออกผลเลี้ยงตัวเองยามแก่เฒ่าในอนาคตที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว เงินก้อนนี้จะได้เป็นมรดกให้ลูกหลานต่อไป แต่การลงทุนเป็นเรื่องของการวางแผนในระยะยาว ในช่วงแรก ๆ อาจไม่ค่อยเห็นผลอะไร เพราะเงินน้อยแต่ระยะยาวด้วยมหัศจรรย์ของผลตอบแทนทบต้น เงินลงทุนของเราจะเติบโตจนเลี้ยงเราได้

จากตาราง ถ้าเราลงทุนเดือนละ 2,000 บาท ผลตอบแทน 10% ต่อปี เพื่อให้มีผลตอบแทนเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ 9,000 บาท ต้องใช้เวลาถึง 18 ปี เพื่อจะมีเงินลงทุนเริ่มต้น 1,080,000 บาท แต่จะเห็นว่า ในระยะเวลาเพียง 4 ปี ด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้นทำให้ระดับเงินเดือนยกฐานจาก ค่าแรงขั้นต่ำเป็น เงินเดือนปริญญาตรีพอดี ถ้ามีการสอนลูกสอนหลานให้รู้จักลงทุนตั้งแต่เด็ก ๆ ลูก ๆ ทำงานและลงทุนต่อจนถึงอายุ 41 ปีก็สามารถเกษียณด้วยรายได้ระดับกรรมการผู้จัดการ รายได้เดือนละ 100,000 บาทได้

ในเรื่องของการลงทุนถ้าไม่ถนัดลงทุนเอง สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมได้ โดยเลือกลงทุนกองทุนที่นำเงินจากผู้ลงทุนไปลงในตราสารที่ตรงกับวัตถุประสงค์ผลตอบแทนและความเสี่ยงของผู้ลงทุน

4.สอนลูกเรื่องการเงิน


แผนการที่วางไว้ทั้งหมดจะพังทันทีถ้าคนในครอบครัวโดยเฉพาะลูกใช้เงินแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง ไมรู้จักการออมเงินและลงทุน เรื่องการออมนี้ต้องสอนตั้งแต่ยังเด็ก ๆ ให้เป็นนิสัย โดยพ่อแม่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ลูก จุดสำคัญที่สุดคือคนเป็นพ่อแม่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก มีการวางแผนการใช้เงิน มีวินัยในการใช้จ่ายและออมเงิน อาจสอนลูกเรื่องการออมเงินโดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ  ที่สอดแทรกความรู้เรื่องการเงินและการลงทุน

5.เพิ่มรายได้


สมัยก่อน การทำธุรกิจส่วนตัวอาจเป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง เวลาจะปลีกตัวไปทำงานก็ไม่มี แต่ปัจจุบัน จากเทคโนโลยีครอบคลุมมากขึ้น และราคาถูกลง ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจทำได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะการซื้อขายออนไลน์ที่มีคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวก็สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้แล้ว ถ้าธุรกิจอยู่ตัวสามารถทำมาค้าขายพร้อมกับดูแลลูกอยู่ที่บ้านได้เลย

การวางแผนทางการเงินสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่เป็นเหมือนการเดินทางระยะยาว ไม่สามารถทำ ๆหยุด ๆ ได้ ดังนั้น การทำให้การจัดการทางการเงินของครอบครัวสำเร็จได้ต้องมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า และต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกคนในบ้าง ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ รวมไปถึงคุณลูกด้วย เมื่อวางแผนดี ๆ ชีวิตครอบครัวก็จะมีความสุข