คนเราเมื่อมีวิสัยทัศน์ (Vision) ก็เหมือนมีความฝัน พันธกิจ (Mission) ก็เหมือนการสือสารกับพนักงานว่าเราจะไปจุดนั้นได้อย่างไรจะได้เดินไปทางเดียวกัน ไปเจอบทความเรื่องการเขียน Mission โดย วิบูลย์ จุง : Wiboon Joong (wbj) เชิญอ่านโดยพลัน
เวลาวิเคราะห์ระบบงานให้กับองค์กรต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ทำก่อนก็คือ วิสัยทัศน์ (Vision) แต่สิ่งที่ทำให้คนในองค์กรต่างๆสับสนส่วนใหญ่ก็คือ พันธกิจ หรือ Mission นั่นเอง แค่ภาษาอังกฤษก็ทำให้สับสนแล้ว มาเจอภาษาไทยที่หรูหรา บางคนก็สับสนไปเลยก็มี
Mission ไม่ได้มากจาก Miss ที่แปลว่าผิดพลาด หรือ ผู้หญิงโสด แต่มันเป็นคำเฉพาะ แปลว่า หน้าที่การงาน คณะทูต หรือ การเผยแผ่ศาสนา แต่แปลเป็นไทยว่า พันธกิจ
พันธกิจ มาจาก พันธะ หรือ ความผูกพัน กับคำว่า กิจ แปลว่า หน้าที่การงาน รวมแล้วก็น่าจะหมายถึง งานที่มีความผูกพันต่อเนื่องกับวิสัยทัศน์ ในเชิงการบริหารจัดการมากกว่า โดยทั่วไปแล้ว พันธกิจ จะบอกถึงสิ่งที่องค์กรกำลังทำอยู่ในปัจจุบันมากกว่า ช่วยทำให้เรารู้ว่าเราคือใคร (Who we are?) และกำลังทำอะไร (What we do?)
บางคนก็เข้าใจว่า พันธกิจ หรือหน้าที่ของเขา คือ ทำกำไร ซึ่งก็จริงอย่างที่เขาพูด ทั้งนี้ สิ่งที่จะเป็นพันธกิจขององค์กรถึงแม้นจะไม่ใช่การทำกำไรโดยตรง แต่หากทำแล้วองค์กรก็จะมีกำไรตามมา แต่บางองค์กรไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร แล้วพันธกิจของเขาคืออะไร??? อันนี้ก็น่าคิดเหมือนกัน
พันธกิจถ้าจะเขียนให้ดี ต้องรู้ว่า ลูกค้าจริงๆของเราเป็นใคร ความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างไร รู้ว่าเราเป็นอย่างไร และ จะทำอย่างไรเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทำอย่างไรถึงจะสามารถสนับสนุนการขาย ทำอย่างไรถึงจะให้คู่แข่งตามไม่ทัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของทั้งองค์กรของทุกคน
จริงๆแล้ว กฎการเขียนก็คงไม่ตายตัวสักเท่าไหร่ แต่เวลาหาข้อมูลไปลึกๆเข้าก็จะพบว่า “Peter Drucker” ปรมาจารย์ด้านการจัดการของโลก เคยระบุไว้ว่า โดยส่วนใหญ่แล้วพันธกิจขององค์กรๆ หนึ่งมักจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบด้วย 9 ประการ คือ
1. ลูกค้า
เป็นการแจกแจงว่า ลูกค้าของเราเป็นใคร ซึ่งก็จะมีทั้งแนวทางการหาลูกค้า ในกรณีลูกค้าไม่ประจำ หรือ องค์กรที่เน้นลูกค้าเป็นหลัก ก็จะพูดถึงความพึงพอใจของลูกค้า
2. สินค้าและบริการ
เป็นการดูว่า สินค้า และ บริการ ของเราเป็นสินค้าประเภทใด ซึ่งก็มุ่งประเด็นไปตรงกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หรือ ชูประเด็นให้เห็นถึงมุมมองของสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์ขององค์กรจริงๆ
3. ตลาด (ตามภูมิศาสตร์แล้ว องค์กรเข้าไปดำเนินการแข่งขันในบริเวณใดบ้าง?)
นอกจาก ตลาดจะอยู่ที่ใดตามภูมิศาสตร์แล้ว องค์กรยังมีการตลาด แนวทางการตลาด วิธีที่ใช้ในการตลาด ไม่ว่า จะเป็นการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือ กลวิธีที่จะส่งผลอย่างไรเพื่อให้วิสัยทัศน์ได้บรรลุเป้าหมายได้จริง
4. เทคโนโลยี
องค์กรใช้เทคโนโลยี อย่างไร หรือมี นวัตกรรมอะไรเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงหรือสร้างสรรงานใหม่ๆ หรือ องค์กรมุ่งเน้นทางด้านนวัตกรรมมากน้อยเพียงใด
5. การคำนึงถึงการอยู่รอด เติบโต และผลกำไร
ซึ่งเรื่องนี้แทบจะต้องมีในทุกๆองค์กรเลยก็ว่าได้ เพราะว่าเป็นหัวใจของธุรกิจเลยว่า ต้องอยู่รอดได้ ต้องมีกำไร ต้องเติบโต ให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
6. ปรัชญา
ปรัชญาจะบ่งบอกถึง ความเชื่อ ความเป็นองค์กร วัฒนธรรมองค์กร คุณธรรม จริยธรรมขององค์กร รวมไปถึง ค่านิยมขององค์กรว่า ภาพรวมขององค์กรที่สำคัญๆ และส่งผลให้ วิสัยทัศน์ ฉายแววแห่งความสำเร็จนั้น มีพื้นฐานต่างๆอย่างไร
7. ความแตกต่าง
การสร้างความแตกต่างก็เพื่อให้องค์กรมีจุดยืนพิเศษ เพื่อให้เหนือคู่แข่งขัน หรือ ให้มีความแตกต่าง เป็นจุดเด่น เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสนใจในตัวองค์กรขึ้น ทั้งนี้เราจะต้องเลือกเฉพาะความแตกต่างที่สร้างสรรที่จะนำพาให้องค์กรประสบความสำเร็จเป็นเกณฑ์เท่านั้น
8. การคำนึงถึงสังคม
บางองค์กร บางหน่วยงาน ให้ การคำนึงถึงสังคม ต่อชุมชน หรือ ต่อสิ่งแวดล้อมเป็นตัวชูโรงว่า ตนนั้นทำเพื่อสังคม ทำเพื่อประชาชน เพื่อให้ภาพลักษณ์ดูดี เป็นการทำ PR อย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ต้องมั่นใจ หรือ ทิศทางที่ชัดเจนจริงๆ ถึงจะใช้ในลักษณะนี้ การใช้แค่สร้างภาพเพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้ คนทำงานสับสนกับองค์กรได้
9. การคำนึงถึงบุคลากร
องค์กรที่คำนึงถึงบุคลากรเป็นหลัก เมื่อลงข้อนี้พนักงานจะมีความเชื่อมั่นในองค์กรมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ความจริงใจ การพัฒนาบุคลากรอย่างเต็มที่ เต็มประสิทธิภาพ จะทำให้ ผลงานที่ได้รับออกมาดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว เฉพาะองค์กรที่มีจำนวนพนักงานมากๆเท่านั้น ถึงจะกล่าวในจุดนี้ เพื่อดึงใจพนักงานให้สูงขึ้น แต่หากไม่ดำเนินตามที่เขียนไว้ บางทีก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้เช่นกัน
ส่วนตัวผม ผมก็จะเพิ่มหัวข้อเหล่านี้เข้าไปด้วยในกรณีบางองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ไม่ใช่เก่งกว่า Perter Drucker แต่เพราะว่ามันใช้งานจริง จึงเห็นสิ่งที่ควรจะเพิ่มก็เท่านั้น
10. เป้าหมายการดำเนินงาน
เพื่อให้การทำงานเด่นชัดมากขึ้น การดำเนินงานจึงต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน รู้ว่าทำไปแล้วได้อะไร เพื่ออะไร แล้วจะส่งผลอย่างไรกับองค์กร
11. ทีมงาน และ สายสัมพันธ์
เพื่อมุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม ไม่ว่าจะเป็นทีมเล็ก ทีมใหญ่ หรือ ทีมทั้งหมดที่เป็นองค์กร ทั้งนี้ เมื่อระบุในพันธกิจ ก็จะหมายถึง การสร้างนโยบายในเชิง ทีมงาน เป็นหลักด้วย
ทั้งหมดเป็นเพียงแนวทางการเขียน Mission หลักๆเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีหลักการตายตัวในการเขียน เพียงแต่เมื่อเขียนแล้วขอให้สามารถสื่อสารคนภายในองค์กรได้จริง มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อให้บรรลุ วิสัยทัศน์ ที่ได้ตั้งขึ้นมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น